Sunday, January 15, 2017

絵本①:『ぐりとぐら』🐭🐭


ผู้เขียนเคยมีความคิดอยากจะเขียนรีวิวความรู้สึกเกี่ยวกับหนังสือภาพเด็กที่เคยอ่านทั้งหมด รวบรวมเก็บไว้อ่านเอง ถึงขนาดซื้อสมุดมาลองเขียนเลยค่ะ
จะเขียนทั้งทีไม่แปะภาพเลย มีแต่ตัวหนังสืออย่างเดียวก็คงดูน่าเบื่อ
เลยลองปริ้นท์ภาพมาตัดแปะ แต่มันค่อนข้างยุ่งยากสุดท้ายก็ล้มเลิกภายในไม่กี่วันค่ะ5555

ตอนนี้ย้ายมาเขียนลงใน blog แทนซะเลย (ฮา)
และนี่คือต้นกำเนิดของรีวิวหนังสือภาพญี่ปุ่นอย่างง่ายค่ะ (*´∀`*

ประเดิมเล่มแรกด้วย 『ぐりぐら』"กุริกับกุระ" หนังสือภาพเล่มโปรดตลอดกาล

ภาพประกอบจาก http://www.ehonnavi.net
ぐりぐら
作:中川李枝子・絵:大村百合子
出版社:福音館書店
ฉบับแปลไทย "กุริกับกุระ"
ริเอโกะ นาคางาวะ (เรื่อง) / ยูริโกะ มูระ (ภาพ) / พรอนงค์ นิยมค้า (แปล)

เล่มนี้จำได้ว่าเจอฉบับแปลไทยบนชั้นหนังสือที่บ้านเพื่อนร่วมงานคุณแม่ตอนไปเที่ยวบ้านเขา
เลยหยิบมาอ่านเล่น =) ส่วนฉบับภาษาญี่ปุ่นได้มาจากร้านขายหนังสือเก่าแถวBTSพร้อมพงษ์ค่ะ

ความประทับใจแรกน่าจะเป็นสีชุดเอี๊ยมที่ตัวละครหนูสองตัวใส่ค่ะ
ตัวหนึ่งสีน้ำเงิน ส่วนอีกตัวสีแดง
ชื่อก็จะคล้ายๆกัน "กุริ" กับ "กุระ" ออกเสียงง่ายฟังดูน่ารัก
(เพิ่มเติม: สีฟ้อนต์บนหน้าปกช่วยให้เราจำได้ว่าตัวไหนชื่ออะไรนะคะ)

จากที่ผู้เขียนลองไปค้นหาที่มาของชื่อตัวละคร "กุริกับกุระ"
เจอบทสัมภาษณ์คุณริเอโกะ นาคางาวะ ผู้แต่งเรื่อง "กุริกับกุระ" อธิบายที่มาของชื่อตัวละครทั้งสองค่ะ

ถามผู้เขียนคุณนาคางาวะ : ชื่อ "กุริกับกุระ" มีที่มายังไงคะ
"ตอนที่ทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ดิฉันเคยอ่านหนังสือภาพฝรั่งเศสอยู่เล่มหนึ่งชื่อเรื่อง "Pouf et Noriaud" ให้เด็กๆฟังค่ะ พอถึงฉากที่ตัวละครหนูนาร้องเพลงว่า "กุริ กุรุ กุระ" เด็กๆจะพากันร้องตามเสียงดังเชียวค่ะ นั่นแหละค่ะคือที่มาของชื่อกุริกับกุระ"
แปลภาษาไทยจากบทสัมภาษณ์คุณริเอโกะ นาคางาวะ ผู้แต่งเรื่อง "กุริกับกุระ"
นสพ.อะซะฮิออนไลน์ ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2558
http://www.asahi.com/msta/articles/ASH585RP3H4XUEHF004.html

มาพูดถึงเนื้อหาเรื่องนี้กันบ้างดีกว่า
ส่วนเนื้อหาตั้งใจว่าจะไม่เล่าเรื่องย่อ เพราะในเว็บสำนักพิมพ์คงมีเกลื่อนแล้ว...
แต่จะเน้นดูภาษาญี่ปุ่นเทียบกับบทแปลภาษาไทยค่ะ =)

ส่วนที่จะยกมาเป็นส่วนเปิดเรื่องค่ะ

<ฉบับภาษาญี่ปุ่น>
ぼくらのなまえは ぐりとぐら
(ชื่อของเราคือกุริกับกุระ) 
このよで 一番好きなのは 
(สิ่งที่เราชอบที่สุดในโลกก็คือ...)
おりょうりすること たべること
(การทำอาหารและการกิน)
ぐりぐら ぐりぐら」
(กุริกุระ กุริกุระ)

<ฉบับแปลไทย>
"สองเราหนูนา กุริกับกุระ
สองเราหนูนา ชอบทำอาหารนะ
สองเราหนูนา ชอบกินด้วยกันจ้ะ
กร๊อบแกร๊บกรุ๊บกรั๊บ กุริ กุระ"

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยสอนผู้เขียนให้รู้จักสังเกตตัวบทเทียบกับบทแปล
ท่านว่าอย่างน้อยที่สุด เราจะเรียนรู้ความแตกต่างของภาษาและวัฒนธรรมของสองประเทศค่ะ

วันนี้จะมาดูเรื่อง การใช้สรรพนามบุรุษที่①แทนตัวผู้พูดぼくら
ぼくら」แปลตรงตัวว่า "พวกเรา" "เรา"
ฉบับภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า 「ぼくら
ในขณะที่ฉบับแปลไทยใช้คำว่า "สองเราหนูนา" แทนตัวผู้พูด (หนูนาสองตัว)

ผู้เขียนเห็นว่าจุดที่น่าสนใจคือ "จำนวนครั้ง" ของการใช้สรรพนามบุรุษที่①แทนตัวผู้พูดของทั้งสองภาษาค่ะ

ทำไมฉบับภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า 「ぼくら」โผล่มาแค่ครั้งเดียว
ในขณะที่ฉบับแปลไทยมีคำว่า "สองเราหนูนา" โผล่มาถึง3ครั้ง ???

แต่ถ้าเราลองลบคำว่า "สองเราหนูนา" ออกให้เหลือเท่าต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นล่ะ?

"สองเราหนูนา กุริกับกุระ
ชอบทำอาหารนะ
ชอบกินด้วยกันจ้ะ
กร๊อบแกร๊บกรุ๊บกรั๊บ กุริ กุระ"

โอเคมันก็ยังพอสื่อความได้
แต่หลายคนคงจะให้ความเห็นว่าเป็นภาษาไทยที่ฟังดูประหลาด ไม่เป็นธรรมชาติ
เพราะมันขาด "ประธาน" ของประโยค

ในภาษาญี่ปุ่นมักจะละประธานของประโยคที่เป็นตัวผู้พูด
เมื่อผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจตรงกันแล้วว่าประธานของประโยคคือใคร
ใน "กุริกับกุระ" ฉบับภาษาญี่ปุ่นจึงไม่จำเป็นต้องใส่ ประธาน หลายครั้ง
เพราะผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจว่ากริยา "ทำอาหาร" และ "กิน" ในประโยคต่อมา มีประธานผู้ทำกริยาคือ หนูสองตัว ที่พูดถึงแล้วในตอนต้น

โดยธรรมชาติของการใช้ภาษาไทย เราจะใส่ ประธาน ในประโยคเพื่อชี้ตัวผู้ทำกริยา
"กุริกับกุระ" ฉบับแปลไทยจึงปรากฎคำว่า "สองเราหนูนา" (สรรพนามบุรุษ1) หลายครั้ง
ได้แก่ "สองเราหนูนาชอบทำอาหาร" และ​ "สองเราหนูนาชอบกินด้วยกัน"

ผู้เขียนมีความเห็นว่าการที่ผู้แปลใช้คำสรรพนามซ้ำหลายครั้ง
อาจมีจุดประสงค์เพื่อให้บทแปลมีท่วงทำนองที่ไพเราะ อ่านง่าย
และเพื่อคงเอกลักษณ์ความเป็นหนังสือเด็กด้วยค่ะ

ภาพประกอบจาก https://kinarino.jp/cat4-グルメ/
6602-*名作絵本のあの味をおうちで再現!「ぐりとぐら」のふわふわカステラ*

------------------------------------------------

สำหรับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นที่สนใจเกี่ยวกับหนังสือภาพเด็ก
สามารถดูข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือภาพได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างเลยค่ะ
บางเล่มจะสามารถทดลองอ่านได้ด้วยนะคะ =)
http://www.ehonnavi.net/

1 comment:

  1. เรื่องจำนวนครั้งของประธานในภาษาญี่ปุ่นและไทยน่าสนใจ สังเกตได้ดีค่ะ

    ReplyDelete